ประกาศจับเป็น!

โพสท์ใน Climate Cool, Youth Venture | ใส่ความเห็น

School of ChangemakersII_6 เรื่องราวยังมีต่อ

School of Changemakers ครั้งสุดท้ายผ่านไปไวจนไม่ทันได้โกหก

เย็นวันพฤหัสที่ 10 กุมภาพันธ์ 2554 เราชวนกันมาแลกเปลี่ยนเรื่องราวการทำโปรเจกต์ของแต่ละทีม ว่าได้เรียนรู้อะไรกันบ้าง ระหว่างการทำงานพบปัญหาหรืออุปสรรคใดบ้างและมีวิธีจัดการแก้ไขอย่างไร และพูดคุยเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับพิธีปิดโครงการในวันที่ 16 มีนาคม 2554

สามสาวทีม Infinity แชร์ประสบการณ์การทำโปรเจกต์ว่าเริ่มจากมิ้นต์ที่อยากแบ่งปันความรู้สึกดีๆเวลาอยู่ท่ามกลางธรรมชาติอย่างสีเขียวสดชื่นของต้นไม้ที่ปลูกที่บ้าน จึงชวนแพรกับจิงมา่ร่วมทีมทำโรเจกต์ด้วย แม้จะไม่ค่อยมั่นใจว่าจะมีเด็กในหอพักสนใจร่วมกิจกรรมไหม แต่ผลลัพธ์ที่ออกมาก็ทำเอาสมาชิกในทีมยิ้มกันแก้มปริ เพราะมีคนมาร่วมเวิร์กช็อปทำกระถางต้นไม้จากขวดพลาสติกและรับต้นไม้ไปปลูก ที่ห้อง ประมาณ 80% ของนักศึกษาในหอพัก สิ่งที่ได้เรียนรู้คือ การทำงานใดๆควรมีการยืดหยุ่นและต้องใช้การสังเกตเพื่อนำข้อเด่นข้อด้อยของกิจกรรมมาปรับให้เข้ากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

จิง “ไม่เคยคิดว่าสิ่งที่คิดมามันจะเป็นไปได้จริงๆ พอลงมือทำแล้วก็รู้ว่าบางอย่างมันทำได้ บางอย่างมันก็ไม่เวิร์กนะ สิ่งที่ทำไม่ได้ตรงเป๊ะตามแผนงาน เพราะเราคอยปรับให้เหมาะสมจากการสังเกตคนและเก็บข้อมูลจากผลตอบรับ ก็เป็นโอกาสที่ดีที่ได้ลองลงมือทำค่ะ ได้ฝึกทักษะการทำโปรเจกต์ว่าควรทำอะไรก่อนหลัง”

แพร “ตอนแรกไม่รู้จะเริ่มทำยังไง เพราะไม่เคยทำโปรเจกต์ระยะยาวเลย แต่พอได้คุยกันในทีมและเรียนรู้จากเพื่อนๆพี่ๆ ก็เลยลองปรับแผนงานกัน ลองลดสเกลงานลง พอเป็นระดับที่พวกเราพอทำได้ ก็เริ่มรู้สึกสนุกและตื่นเต้นที่จะทำมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งเวลามีคนมาถามเรื่องการปลูกต้นไม้กับเรา ก็ยิ่งรู้สึกดี ทำให้รู้ว่า ทุกคนอยากช่วยโลก แต่ไม่รู้จะช่วยยังไง โปรเจกต์เราเหมือนจุดเริ่มต้นที่ชวนให้คนอื่นคิดอยากสานต่อ”

มิ้นต์ “ตอนแรกที่คิดโปรเจกต์นี้เพราะอยากให้คนอื่นๆรู้สึกสดชื่นเวลาเห็นต้นไม้ ดอกไม้ที่ตัวเองดูแลบ้าง แต่สิ่งที่เจอมันน่าประทับใจกว่านั้น ตรงที่เวลาเราได้รับการตอบรับจากคนรอบข้าง อย่างความคิดเห็นที่มีคนมาเขียนให้บนบอร์ด ทั้งที่ยังกลัวอยู่เลยว่าจะไม่มีใครสนใจ เลยรู้สึกมั่นใจขึ้น พอมีแรงใจแล้วก็อยากทำสิ่งดีๆเพื่อคนอื่นๆต่อ ถ้ามีคนมาสอนเรื่องการทำโปรเจกต์ก็คงเรียนแบบผ่านหูแล้วก็ลืม แต่นี่ได้ลองทำเอง มันก็จะจำและรู้ด้วยตัวเองว่าควรทำหรือแก้อะไรบ้าง รู้สึกดีมากที่ได้ทำโปรเจกต์นี้”

จอย ตัวแทนจากทีม Coffee Cycle เล่าว่าแม้จะมีประสบการณ์การทำโปรเจกต์หลายครั้ง แต่ครั้งนี้ทำใ้ห้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง ที่สำคัญคือเรื่องคนและเรื่องเวลา เพราะสมาชิกแต่ละคนในทีมมีเวลาว่างไม่ตรงกัน หากมีการจัดการที่ดีกว่านี้จะช่วยลดความเหนื่อยในการทำโปรเจกต์ลงได้มาก แอบกระซิบว่าทางทีมได้จัดเวิร์กช็อปทำสบู่จากกากกาแฟแล้ว และจะจัดอีกครั้งสิ้นเดือนนี้ ใครสนใจรอติดตามข่าวได้เร็วๆนี้

จอย “ตอนแรกคิดแค่อยากหากิจกรรมให้น้องสาวลองทำ แต่พอลงมือทำแล้วพบว่าเหนื่อยมากเพราะสมาชิกทีมมีเวลาว่างไม่ตรงกัน ก็เป็นบทเรียนที่ดีว่าครั้งหน้าต้องจัดสรรคนและเวลาให้ดี แต่ตอนที่ได้ผลตอบรับเวลาจัดกิจกรรมแล้วก็ชื่นใจ และสนุกดี ได้ลองใช้ Facebook ในการประชาสัมพันธ์ด้วย เวลาได้พูดคุยกับพี่ทีมงานและวิทยากรแล้วก็เหมือนได้เปิดโลกดี ได้รู้ว่าโลกยังมีเรื่องดีๆที่น่าสนใจอีกเยอะมาก ส่วนตัวโปรเจกต์ ก็สอนให้เรารู้ว่า เราฝันได้เยอะ แต่เวลาลงมือทำจริง มันไม่ใช่ว่าฝันนั้นมันเป็นไปได้ทุกอย่างอย่างที่เราคิดฝันไว้ ต้องรู้จักเลือกว่าเราจะทำฝันไหนก่อนหรือหลังดี

สาวเพียว ตัวแทนทีม WMLG ก็มีโปรเจกต์ที่ใกล้สำเร็จแล้วมาอวดเหมือนกัน ทั้งเรื่องการปรับสเกลการทำงานเหลือแค่การร่วมงานกับชมรมสิ่งแวดล้อมขอ งม.มหิดลฯอินเตอร์ การประชาสัมพันธ์ที่มีทั้งการตั้งหุ่นตัวเหี้ย ทำโปสเตอร์และออกคลิปประชาสัมพันธ์ รวมถึงการจัดกิจกรรม One Day Trip ที่ชวนคนตามหาตัวเหี้ยในบริเวณมหาวิทยาลัย ตอนนี้อยู่ในระหว่างการทำแผนที่บอกตำแหน่งตัวเหี้ย โครงการต่อจากนี้อยากลองหาอะไรสนุกๆทำในชุมชนบริเวณบ้านของตัวเองดูบ้าง

เพียว “ตัวเพียวไม่ได้เรียนแล้ว เหมือนเราอยู่ห่างจากพื้นที่ที่เราลงไปทำกิจกรรม เลยต้องพึ่งเด็กในมหาวิทยาลัย ก็คิดว่าถ้ามีโอกาสคราวหน้าจะลองทำโปรเจกต์ที่อยู่ใกล้ๆตัวเรา มีเรื่องน่าปลื้มด้วย เพราะเพื่อนสนิทที่เคยดึงมาช่วยโปรเจกต์ เล่าให้ฟังว่าการทำโปรเจกต์กับเรา ช่วยเปลี่ยนแปลงความคิดในเรื่องสิ่งแวดล้อมของเค้า ตอนนี้เค้าก็เริ่มให้ความสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ถึงจะเป็นส่วนเล็กๆแต่ก็รู้สึกดีใจที่เราก็สามารถทำให้คนอื่นเกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งดีๆได้

ปิดท้ายด้วย 2 หนุ่มประจำคลาส วินกับจิ๋วจากทีมผู้สมรู้ร่วมติสที่ทำโปรเจกต์เสร็จแล้ว บอกว่าได้เรียนรู้เรื่องการติดต่อและประสานงานกับคนในหน่วยงาน ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ไม่เคยคิดอยากทำแต่เมื่อเป็นสิ่งจำเป็นและเพือให้งานผ่าน ไปได้ด้วยดี จึงตัดสินใจเดินหน้าลุยติดต่อเจ้าหน้าที่และผู้ที่เกี่ยวข้องด้านต่างๆ ต้องรอ ต้องอดทน ต้องคอยติดตาม จนสุดท้ายได้พื้นที่สำหรับการทำกิจกรรม เมื่อถึงวันจัดกิจกรรม ก็ยังพบปัญหากลัวไม่มีใครมาเข้าร่วม เนื่องจากชนกับวันจัดกิจกรรมของทางมหาวิทยาลัย บวกกับความด้อยประสบการณ์ของการประชาสัมพันธ์ แต่อาศัยการชักชวนเพื่อนฝูงแบบปากต่อปากจึงทำให้สามารถดำเนินกิจกรรมผ่านไป ด้วยดี มีผู้ให้ความสนใจและมาช่วยลงมือลงแรงหลายคน

จิ๋ว “ตอนแรกที่คิด โปรเจกต์มันใหญ่และมีรายละเอียดเยอะมาก แต่พอทำแล้วก็ตกลงกันว่าเริ่มทำอย่างใดอย่างหนึ่งก่อนดีกว่า วันจัดกิจกรรมก็ยังแอบกลัว เพราะรู้สึกว่าเราประชาสัมพันธ์กิจกรรมไม่ค่อยดี กลัวไม่มีใครมาเข้าร่วม แต่ดีที่ได้เพื่อนที่ชวนๆกันมาช่วยกัน เลยคิดว่าครั้งหน้าต้องเตรียมแผนการประชาสัมพันธ์มากกว่านี้ การทำโปรเจกต์ทำให้มีโอกาสได้รู้จักเพื่อนใหม่เยอะมาก มีบางคนเห็นหน้ากันทุกคนแต่ไม่เคยได้คุยกันเลย มาได้คุยกันก็ตอนทำกิจกรรมด้วยกัน

วิน “ต้องสู้กับหลายๆอย่าง ทั้งกับตัวเอง ที่ต้องนั่งนิ่งๆเพื่อถามว่าสิ่งที่ทำใช่สิ่งที่ชอบไหม ถ้าไม่ ต้องกล้าเปลี่ยน กับเพื่อนก็มีแต่คนมองว่าเราแปลกแยก เพราะมีสิ่งอื่นที่เราทำนอกจากการเรียน แม่เองก็ไม่มั่นใจว่าเป็นสิ่งที่เราควรทำ แต่พอทำแล้ว เราได้ประสบการณ์เยอะมาก ได้เจอคนที่มีไอเดียเจ๋งๆ ได้เรียนรู้ทักษะการทำโปรเจกต์ รู้สึกว่าเราโตขึ้น จากเดิมที่เป็นคนไม่่มีอะไร ไม่เคยทำอะไร ไม่เคยคิดอะไรเท่าไร มาตอนนี้เวลาทำอะไรก็จะฉุกคิดเรื่องสิ่งแวดล้อม คือคิดเผื่อคนอื่นโดยอัตโนมัติ และเราไม่กลัวที่จะทำ งานหนักนี่ไม่กลัวนะ กลัวงานไม่สนุก

เห็นแต่ละทีมเล่าประสบการณ์ที่ได้รับจากการทำโปรเจกต์แล้วก็ปลื้มใจ คลาสวันนี้เป็นคลาสที่เราได้แชร์เรื่องราวตลอดการทำโปรเจกต์ ชวนกันย้อนเวลาไปตั้งแต่วันแรกที่เรายังไม่รู้จักกัน เรื่อยมาจนได้ร่วมกระโดดลงเรือลำเดียวกัน พูดคุยกันมากขึ้น ชวนกันทำกิจกรรม พากันไปลั้นลาเรียนรู้นอกสถานที่ เจอปัญหา แก้ไขปัญหา และอีกมากมาย ดีใจที่ชีวิตโคจรมาเจอกัน 🙂

.

ใครอยากรู้เรื่องราวโปรเจกต์แบบเต็มๆของเขาและเธอ ตามไปที่ ที่นี่

โพสท์ใน Climate Cool, School of Changemakers | ใส่ความเห็น

มาหากระดาษ ณ มหาสารคาม

ไม่นานมานี้มีกิจกรรมดีๆของทีม CD Green Heart จากโครงการ Climate Cool2 ได้ยินว่าสนุกสนานคึกคักกันดีทีเดียว ขอบคุณสาวเจษ ตัวแทนของทีม ที่เขียนมาเล่าให้ฟัง (ขอบอกว่ายิ่งคิดยิ่งเสียดาย เพราะอยากไปร่วมงานด้วย!)


กิจกรรมโครงการใช้กระดาษอย่างรู้ค่า คืนชีวาให้โลกสดใส จัดขึ้นในวันที่ 24-26 มกราคม 2554
กิจกรรมส่วนแรก เราจัดกันที่ใต้ถุนอาคารเรียนรวมราชครินทร์  มีรองคณบดีฝ่ายพัฒนานิสิต คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.มหาสารคาม ให้เกียรติเป็นประธานในการเปิดโครงการ จากนั้นมีการอบรมเสวนากันในประเด็นกระดาษกับการใช้พลังงาน โดยพี่โบ๊ทและพี่โบว์ 2 สาวสวยจาก  solargeneration

กิจกรรมสอนทำสมุดทำมือของเรามีนิสิต คณาจารย์ และบุคลากรของ ม. มหาสารคาม ให้ความสนใจเข้ามาทำสมุดทำมือกับเราจำนวนมาก โดยมีกระดาษที่ใช้แล้วหน้าเดียวเป็นวัสดุหลักในการประดิษฐ์ พวกเรายังจัดนิทรรศการเชิญชวนให้ทุกคนใช้กระดาษอย่างรู้คุณค่า โดยมีบอร์ดข้อมูลและรูปภาพต่างๆที่เป็นสื่อในการให้ความรู้เรื่องของกระดาษกับการใช้พลังงาน รวมทั้งการใช้กระดาษอย่างไรให้รู้คุณค่า ถือเป็นการรณรงค์เชิญชวนให้นิสิต และบุคลากรในมหาวิยาลัยมีจิตสำนึกที่ดีในด้านสิ่งแวดล้อมและตระหนักในความสำคัญของการใช้กระดาษอย่างรู้คุณค่า

ส่วนกิจกรรมในส่วนที่2 พวกเราเหล่า CD GREEN HEART รวมทั้งเพื่อนๆภาคีในสาขาการพัฒนาชุมชน ได้เดินทางไปจัดกิจกรรมดีๆเพื่อน้องที่โรงเรียนกันทรวิชัย อ กันทรวิชัย จ.มหาสารคามโดยมีรองผู้อำนวยการโรงเรียนกันทรวิชัยให้เกียรติเป็นประธานในการเปิดงานและให้โอวาสกับพวกเราและน้องๆ

วันนี้เราจัดกิจกรรมชวนน้องๆนำเอากระดาษที่ใช้แล้วหน้าเดียวมาประดิษฐ์ทำสมุดรักษ์โลก เรียกว่าใส่ไอเดียตามแต่ใจของใครของมันกันสนุกสนาน แถมท้ายด้วยการจัดประกวดสมุดรักษ์โลกเพื่อหาสุดยอดไอเดียเจ๋งๆในการบอกรักษ์โลกผ่านสมุดอีกด้วย งานนี้น้องๆรวมทั้งคุณครูที่โรงเรียนกันทรวิชัยให้ความสนใจเป็นอย่างดี และน้องๆยังเต็มใจมอบสมุดทำมือฝีมือตัวเองให้กับทางเราเพื่อนำไปมอบให้กับน้องๆในชนบทห่างไกลต่อไป

เชื่อว่าการจัดกิจกรรมทั้งสามวันของเหล่าCD GREEN HEART จะเป็นส่วนเล็กๆส่วนหนึ่งในการสร้างชีวาให้โลกของเราสดใสดังเดิม

เราเชื่ออย่างนั้ัน
คุณล่ะ? : )

 

อยากรู้จักเรื่องราวของเขา เธอ และพลพรรคชาว Climate Cool ให้มากกว่านี้ ตามไปที่นี่ ได้เลย! ^^

 

โพสท์ใน Climate Cool | ใส่ความเห็น

School of ChangemakersII_5 การนำเสนอโปรเจกต์

คงไม่สายหากจะกล่าวคำว่า “สวัสดีปีใหม่” เลขปีพ.ศ.ขยับเพิ่มขึ้นมาอีกปีแล้ว ใครยังไม่มีความตั้งใจสำหรับปีนี้คงต้องลองถามตัวเองซักหน่อยแล้วว่าปีนี้เราจะทำอะไรสนุกๆบ้าง คิดได้แล้วอย่าลืมแบ่งปันให้เพื่อนฝูงหรือคนรอบข้างร่วมด้วยช่วยมันส์ด้วยนะ ^^
.

ช่วงค่ำวันพุธที่ 19 มกราคม 2554 เวลา 6 โมงเย็น เรามีนัดเจอกันที่บริติช เคานซิล สยามสแควร์ ตามนัดหมายของ School of Changemakers (โรงเรียนของนักเปลี่ยนแปลงโลก)

อิ่มข้าวเย็นอร่อยๆกันแล้วก็ถึงเวลาเข้าเรียน
วันนี้เราได้พี่อู๋ หนุ่มหล่อหน้ามนจากองค์กรสร้างสรรค์เพื่อสังคม iCARE มาเป็นวิทยากรในหัวข้อ การนำเสนอโปรเจกต์
.

.
“คิดให้มันยาก มันก็ยาก”
พี่อู๋เปิดประเด็นไว้อย่างน่าสนใจ ก่อนจะให้พลพรรคชาว Climate Cool ช่วยกันแชร์เหตุผลที่จะชักจูงให้เพื่อนไปดูหนังกับเรา

บางคนบอกว่า ชวนเพราะรู้ว่าเพื่อนชอบนักแสดงนำในเรื่อง (รู้ความสนใจของผู้รับสาร) ชวนด้วยเหตุผลว่ามีคนบอกว่าหนังดี (ใช้ข้อความที่น่าสนใจ) ชวนเพราะเห็นเพื่อนเพิ่งสอบเสร็จหมาดๆยังไม่มีโปรแกรมทำอะไร (อาศัยจังหวะที่เหมาะสม) หรือบอกไปเลยว่าบัตรฟรี (ยกเหตุผลยั่วใจผู้รับสาร) ซึ่งถือว่าที่เสนอกันมาไม่มีถูกหรือผิด เพราะมันขึ้นอยู่กับหลายๆปัจจัย แต่ถ้านำมาคิดแล้วจะพบว่ามันคือหลักในการสื่อสารที่เราทุกคนใช้ในชีวิตประจำวันนี่แหละ จะชวนเพื่อนไปดูหนัง จะขอเงินแม่ซื้อไอโฟน หรือเป็นการสื่อสารใดก็แล้วแต่ มีหลักง่ายๆที่ประกอบไปด้วยผู้ส่งสาร ตัวสาร ช่องทาง/วิธีส่งสาร และผู้รับสาร
.

SENDER —> MESSAGE —> CHANNEL —> RECEIVER

.
คำถามคือ แล้วเราจะทำอย่างไรให้ผู้ฟังคล้อยตามหรืออยากฟังเราอีก?
คำตอบง่ายๆคือ แค่ต้องทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าเรื่องของเรามันมีอะไรบางอย่าง (Talk Value) ซึ่งเจ้าอะไรบางอย่างที่ว่านี้อาจจะไม่ใช่เนื้อหาที่เราต้องการจะสื่อ แต่เป็นข้อมูลใดก็ได้ที่สามารถดึงดูดความสนใจหรือกระตุกความสงสัยใคร่รู้ของผู้ฟังให้รู้สึกอยากติดตามข้อมูลของเราต่อ เช่น

ตย.1
พี่อู๋: พี่ไปกินโจ๊กมา
พี่เมธ์: อ้าวเหรอ เป็นไงมั่งพี่
พี่อู๋: ก็กินโจ๊กน่ะ
พี่เมธ์: … (จบบทสนทนาแบบมึนงง เพราะลักษณะข้อความผิดจากมนุษย์ปกติ)

ตย.2
พี่อู๋: พี่ไปกินโจ๊กมา
พี่เมธ์: อ้าวเหรอ เป็นไงมั่งพี่
พี่อู๋: มีแมงสาปในโจ๊ก!
พี่เมธ์: เฮ้ย! จริงเหรอพี่ อะไรยังไงร้านไหนเมื่อไหร่ บลาบลาบลา (ต่อบทสนทนาได้อีกยาว)
.

คลาสวันนี้พี่อู๋ยังชวนเราพูดนำเสนอโปรเจกต์ของแต่ละทีมให้ได้ภายในเวลา 20 วินาที ซึ่งในรอบแรกมีบางทีมที่ยังตื่นเต้นกันอยู่ แต่พอเริ่มชินก็เริ่มจับประเด็นสำคัญและหา แมงสาปในโจ๊ก (Talk Value) มาพูดได้ตามเวลาที่กำหนดให้ (แอบกระซิบบอกไว้เลยว่าในพิธีปิดโครงการ Climate Cool 1 เรามีกิจกรรม Petcha Kucha ที่ให้ตัวแทนแต่ละทีมมาพูดแนะนำโปรเจกต์ตัวเองภายในเวลา 20 วินาทีด้วยเหมือนกัน ใครสนใจตามไปดูได้ที่นี่)

.
ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องจำไว้เสมอว่าผู้รับสารแต่ละคนมีประสบการณ์ (Field of Experience) ต่างกัน เรื่องบางอย่างเขาอาจจะรู้หรือมีความสนใจอยู่แล้ว แต่เรื่องบางอย่างเขาอาจจะไม่เคยรู้จักมักคุ้นหรือให้ความสำคัญเลย การจัดการง่ายๆคือ เอาใจเขามาใส่ใจเรา เอาหัวเขามาใส่หัวเรา เมื่อสังเกต ศึกษา และประเมินผู้ฟังแล้วคิดว่าถ้าเป็นเรา เราจะสนใจเรื่องใด อยากฟังเรื่องใด แล้วปรับใช้ให้เหมาะสม ใครจะรู้ว่า 20 วินาทีแรกของเรา อาจเพิ่มเป็นอีกหลายนาที หากคนฟังสนใจและอยากมีส่วนร่วมในโปรเจกต์ที่เราทำอยู่ก็ได้

“ใช้ความเป็นมนุษย์ของเรานี่ละตัดสิน ทุกอย่างในโลกมัน Simple จะตาย อย่าคิดมาก” พี่อู๋ทิ้งท้ายไว้แบบเปรี้ยวๆให้น้องๆแต่ละทีมกลับไปขบคิดการนำเสนอโปรเจกต์ของตัวเองต่อ
.

นอกจากจะชวนคุยเรื่องไอเดียการสื่อสารที่ย่อยคล่องเข้าใจง่ายแล้ว พี่อู๋ยังแนะนำงานเจ๋งๆอย่าง “ลับน้อง-ลับเด็กให้คม ลับเด็กให้คูล” ที่ชวนน้องๆวัยเฟรสชี่ยันพี่ซีเนียร์และผู้ที่สนใจเข้าฟังเรื่องโดนๆจากรุ่นพี่ดีๆในหัวข้อ “วิชาที่มหา’ลัยไม่ได้สอน…” ด้วย
งานมีวันเสาร์ที่ 5 กุมภานี้ เวลา บ่าย 4-6 โมงเย็นที่หอศิลป์กรุงเทพฯ
อยากรู้รายละเอียดเพิ่มเติมตามไปที่นี่

ขอบอกว่างานนี้ฟรี รีบตามไปคลิกลงทะเบียนรับบัตรกันไวๆ โอกาสดีๆมาถึงแล้ว พลาดไปล่ะเสียดายแย่!

โพสท์ใน Climate Cool, School of Changemakers | ใส่ความเห็น

School of Changemakersll_4 ปาร์ตี้นี้มีแต่ให้

โพสท์ใน Climate Cool | ใส่ความเห็น

Our Chiang Mai Book

ตอนอยู่เชียงใหม่ น้องๆ Climate Cool2 ตกลงกันว่าจะเขียนบทความส่งให้เพื่อนๆ อ่านกัน ว่าได้อะไรจากการเดินทางครั้งนี้ เขียนดี ตั้งใจ ออกแบบสวยงาม พี่ๆ ทีมงานอดใจไม่ไหว อยากเก็บความทรงจำนี้ไม่ใช่แค่เพียงไฟล์ แต่เป็นอะไรที่สัมผัสได้ด้วยใจ

เลยชวนน้องๆ มาทำหนังสือทำมือกัน เพราะเห็นนอยากลองเย็บกันด้วย พี่ๆ เลยจัดให้ สนุกสนาน เฮฮากันไป ได้มาเจอกันอีกครั้งพร้อมหน้าพร้อมตา ขอบคุณน้องๆ ที่มากันทุกคน 🙂

อ่านเรื่องราวนี้

 

โพสท์ใน Climate Cool | ใส่ความเห็น

doing it ourselves

เสียงสะท้อนจากเยาวชนผู้นำสิ่งแวดล้อมโดยบริติช เคานซิลส่งตรงจากเวียดนาม ต่อการประชุม COP16 (United Nation Conference of Parties 16) แคนคูน ประเทศเม็กซิโก

โพสท์ใน Climate Cool | ติดป้ายกำกับ | ใส่ความเห็น

School of Changemakers II_3 การทำงานกับคน

24 ต.ค. 53  เวลาผ่านไปไวเหมือนติดปีก ได้เวลาชวนกันไป School of Changemakers (โรงเรียนของนักเปลี่ยนแปลงโลก) ที่ British Council สยามสแควร์ แล้วทุกคน!

ถึงแม้คลาสนี้จะมีพลพรรคชาว Climate Cool มากันน้อยคน แต่เนื้อหาก็ยังเข้มข้นไม่แพ้คลาสอื่น เพราะครั้งนี้เราได้รับเกียรติจากพี่พลอย สถาปนิกสุดคูลจาก APOSTROPHY’S เจ้าของโปรเจคเพื่อสังคมมากมายที่ไม่เชื่อก็ขอให้เชื่อว่าพี่เค้าเจ๋งจริงอะไรจริง แต่จะเจ๋งยังไง วันนี้เรามีคำตอบมาให้


“จะทำอะไรก็ได้แหละ ขอให้ ‘โดน’ ทำให้สนุก”
พี่พลอยขึ้นต้นบทเรียนวันนี้ไว้อย่างนั้น
จากประสบการณ์การทำงานกับชุมชนและผู้คนมากหน้าหลายตา ทำให้พี่พลอยได้ชุดความรู้มากมาย สิ่งหนึ่งคือ “ประโยชน์ของการเล่น”

ใครหลายคนอาจคิดว่าก็แค่เล่นอะไรขำฮาเพื่อความสนุกสนานผ่อนคลาย แต่ในมุมมองของคนทำงานแล้ว การเล่นสามารถทำใ้ห้เราไ้ด้สิ่งอื่นๆอีก ได้แก่ ข้อมูล การออกแบบ การปรับปรุง การพัฒนา ไปจนถึงการเล่นเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

เราคุยกันถึงคำถามสั้นๆที่ว่า “จะทำยังไงให้คนที่เราไม่รู้จักมาร่วมงานกับเราอย่างเต็มใจและสบายใจ”
กับคำตอบสั้นๆที่ว่า “เลือกสารและออกแบบคำพูดกับวิธีการสื่อสารให้เหมาะสม”

เหตุผลที่เราต้องรู้ก่อนว่าเราจะเล่นกับใคร เพราะกลุ่มเป้าหมายของแต่ละโปรเจคนั้นจะมีข้อแตกต่างกันไปทั้งวัย เพศ จำนวน หรือลักษณะพิเศษอื่น (เช่น บางครั้งกลุ่มเป้าหมายของเราคือเด็กดมกาว) ซึ่งถ้าเรารู้แน่ชัดแล้วว่ากลุ่มเป้าหมายคือใคร ก็จะนำไปสู่การคิดรูปแบบกิจกรรมที่จะดึงดูดความสนใจให้เขาเหล่านั้นยอมรับ และตอบรับเข้าร่วมกิจกรรมของเรา ว่าแล้วพี่พลอยก็หยิบโปรเจคที่เคยทำมาเล่าให้ฟัง

1.โปรเจคชุมชนแฟลตดินแดง: Area + Play = Info


ภารกิจ: อยากปรับปรุงกิจกรรมในชุมชนให้มี Public Space
วิธีจัดการ: ตีซี้กับเด็กโดยการชักชวนมาวาดรูป ทำเป็น “หนังสือพิมพ์กำแพง” และตั้งคำถามที่สามารถโยงไปถึงข้อมูลที่ต้ิองการ เช่น ให้เด็กวาดรูปเตียงนอนของตัวเอง นอกจากจะรู้สภาพที่นอนของเด็กแล้ว ยังได้ข้อมูลอื่นอย่าง จำนวนสมาชิกในครอบครัว สภาพในบ้าน หรือกิจกรรมในครอบครัวด้วย หรือให้เด็กวาดพื้นที่ในชุมชนที่ตัวเองไม่ชอบ ซึ่งทำให้เราได้ข้อมูลว่าบริเวณไหนในชุมชนที่จะเป็น “โจทย์” ให้เราคิดหาทางแก้ไขเพื่อปรับปรุงพื้นที่ต่อไป

2. โปรเจคชุมชนแสนสุขพัฒนา: Flexible Architecture


ภารกิจ: ปรับปรุงสนามเด็กเล่นของชุมชน
วิธีจัดการ: จัดกิจกรรมแบ่งตามแต่ละอาทิตย์ โดยใช้โปสเตอร์ติดประชาสัมพันธ์ทุกอาทิตย์ ที่พิเศษคือใช้ผลงานและตัวเด็กในชุมชนเองมาเป็นนายแบบนางแบบตัวน้อย เพื่อดึงดูดให้เด็กและคนอื่นๆตื่นเต้นที่เห็นรูปตัวเองในโปสเตอร์ แม้จะไม่รู้ว่ากิจกรรมที่ทีมงานจะทำคืออะไร แต่เพราะเด็กๆยังเล็กมาก เลยต้องคิดต่อว่า จะทำยังไงให้เค้าเข้าใจว่าเราสร้างทุกอย่างที่อยากได้ไม่ได้ สรุปเลยให้เด็กคิดเอง และลงมือทำเอง มีงานบางอย่างที่ทีมงานต้องช่วยเพื่อความปลอดภัย เช่น งานเตรียมอุปกรณ์ให้เหมาะสม ที่ทำให้เด็กที่เล็กที่สุดสามารถร่วมกิจกรรมด้วยได้

3. โปรเจคชุมชนคลองเตย: Tools for Information


ภารกิจ: ปรับปรุง Public Space
วิธีจัดการ: ละลายพฤติกรรมให้เยาวชนในชุมชนเปิดใจรับแล้วเข้าร่วมกิจกรรมกับทีมงาน โดยการคิดกิจกรรมดึงดููดความสนใจอย่างการทำ Root Map ที่ให้เด็กใช้ด้ายสีติดทำเส้นทางที่ใช้ในชีวิตประจำวันของตัวเอง ทำให้เราได้ข้อมูลของชุมชนที่นำไปใช้งานจริงได้ เช่น มีร้านรวงอะไรที่ไหนบ้าง พื้นที่ไหนที่เด็กๆไปเล่นกันเยอะ พื้นที่ไหนเป็นแหล่งนัดกินเหล้ากัน ฯลฯ จนได้ 3 สถานที่หลักที่น่าจะเป็น Public Space ได้คือ โรตารี่คอร์ต สนามฟุตบอล และสนามมวย ทีมงานจึงคิดกระบวนการจัดการโดยใช้เกมให้เด็กเล่นกันไปทำงานกันไป โดยยึดหลัก “ไม่บังคับ” น้องอยากทำอะไร ทำเลย ทีมงานมีหน้าที่ต้องใช้ไหวพริบเพื่อพลิกแพลงและปรับกิจกรรมให้เข้ากับชุมชน ให้ได้

4. โปรเจคตลาดมีนฯ

ภารกิจ: ทำห้องสมุดชุมชน
วิธีจัดการ: ระดมทรัพยากรที่ชุมชนมี ทั้งสิ่งของและกำลังคน เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมให้คนในชุมชนเกิดความรู้สึกว่าเป็นพื้นที่ของทุกคน และทุกคนมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์และทำให้ห้องสมุดเกิดขึ้นได้

“บางครั้งความช่วยเหลือก็ไม่ได้มาในรูปแบบที่เราคาดคิดเสมอไป อาจจะเป็นคำแนะนำ ความสะดวกที่ยอมให้เราดำเนินกิจกรรม หรือการเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรม บางทีมีคนมาช่วยเพียงเพราะเค้าอยากมาดูแลลูกของตัวเองที่มาร่วมกิจกรรมกับเราเฉยๆ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นอย่าคาดหวังว่างานเราจะสำเร็จแบบ 100% เพราะเราควบคุม จัดการ หรือเปลี่ยนอะไรไม่ได้หรอกนอกจากตัวเอง” พี่พลอยสรุปบทเรียนแบบให้ฟังดูง่าย แต่โลกแห่งความจริงมันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น ถ้าลงมือทำจริงเราจะเจอเรื่องราวแบบไหน เจอปัญหาอะไร จะทำได้จริงแค่ไหน ไม่รู้หรอก

ของอย่างนี้มันต้องลอง : )

พบกันในคลาสเรียนหน้า ส่วนจะชวนกันมาคุยเรื่องอะไรขออุบไว้ก่อน แต่ขอบอกว่าไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง!

โพสท์ใน Climate Cool, School of Changemakers | ใส่ความเห็น

making books supporting dreams #15

– Click บนภาพเพื่อขยาย –

โพสท์ใน Book Making Workshop | ติดป้ายกำกับ | ใส่ความเห็น

Twilight Garden in 180 minutes

บางสิ่งอย่างทำให้เย็นวันศุกร์ที่ 19 พ.ย. 53 เป็นมากกว่าวันศุกร์ธรรมดาๆ

วันนี้ทีมผู้สมรู้ร่วมติสจากโครงการ Climate Cool2 ชวนเราไปร่วมกิจกรรม 180 minutes กันที่หลังหอพักนิสิต (หอจำปา) จุฬาฯ ได้ยินว่าจะรวมพลกันไปปลูกต้นไม้ในใจคนหรืออะไรซักอย่าง ถึงจะยังนึกภาพไม่ค่อยออก แต่ฟังดูก็น่าสนุกดี เลยไม่รีรอที่จะยกมือขอตามไปด้วย

6 โมงเย็นแดดร่มลมตก ได้ฤกษ์เริ่มกิจกรรม
“เราชวนกันมาทำสวนสวยๆให้เสร็จ ภายในเวลา 180 นาที” วินบอกเราอย่างนั้น ก่อนที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมคนอื่นๆ(ที่กว่าจะทะยอยกันมาก็เล่นเอาทีมงานแอบหวั่นใจ เพราะกลัวจะไม่มีใครมาเข้าร่วม)จะวางกระเป๋าไปหอบถุงอิฐแบกถุงดินและคว้าจอบคว้าเสียมไปลุยงาน

จากบริเวณที่เต็มไปด้วยดินสุดแข็งผสมหิน(ที่แข็งยิ่งกว่า!)ที่ไม่ได้ถูกใช้งาน ก็ค่อยๆถูกปรับและเปลี่ยนจนกลายเป็นบริเวณที่มีอิฐมาวางจัดสรรพื้นที่ใหม่ มีดินที่พร้อมสำหรับการปลูก ต้นไม้ดอกไม้มากมายหลายพันธุ์ถูกแกะห่อลงดิน ก่อนที่เราจะช่วยกันยกม้านั่งไปตั้งไว้สำหรับนั่งพักผ่อนชิลๆ เป็นอันเสร็จพิธี สรุปว่าภารกิจวันนี้เราสามารถทำสำเร็จได้ก่อนเวลาที่ตั้งไว้ตั้ง 60 นาที!

จากนั้นเราก็ชวนกันล้อมวงกินข้าวและคุยสรุปกิจกรรมในสวนที่พวกเราเพิ่งร่วมมือร่วมใจทำเสร็จกันไป วิน มิ้นต์ จิ๋ว กุ้ง และผู้เข้าร่วมกิจกรรมคนอื่นๆแชร์ “180 นาทีสุดท้ายในชีวิต” ของแต่ละคน หลายคนบอกว่าจะใช้เวลาสามชั่วโมงสุดท้ายอยู่กับคนที่รัก บางคนบอกว่าอยากทำสิ่งดีๆส่งท้าย และอีกหลายคนที่บอกว่าอยากทำอะไรก็ได้ที่คิดว่าอยากทำแต่ไม่มีโอกาสได้ทำ

“ถ้าเราลงมือทำ มันก็เกิดการเปลี่ยนแปลง มันอาจจะดูเป็นแค่เรื่องเล็กน้อย แต่เชื่อว่ามันส่งถึงคนรอบข้างได้” วินฝากไว้ก่อนที่เราจะแยกย้ายกันกลับหอกลับบ้าน

เป็นเย็นวันศุกร์ที่มีเรื่องให้ปลื้มใจหลายๆอย่าง ทั้งตอนที่เห็นสมาชิกในทีมแอบคิ้วขมวดหวั่นใจว่าจะไม่มีใครมาร่วมกิจกรรมแต่ก็ยังมีแรงฮึดปลอบใจตัวเองว่าเดี๋ยวก็คงมากัน ทั้งตอนที่เห็นคนทะยอยเดินมาช่วยงานทีละคนสองคน จนนับแล้วได้ตั้ง 20 กว่าคน ทั้งตอนได้ยินเสียงหัวเราะเฮฮาตอนขุดดิน ฯลฯ จะว่าไป กิจกรรมครั้งนี้่ไม่ถึงกับสร้างพื้นที่สีเขียวหรือลดคาร์บอนช่วยโลกได้จนเห็นการเปลี่ยนแปลงชัดเจน แต่ฉันเชื่อว่ามันได้ปลูกจิตสำนึกที่ดีให้คนรุ่นใหม่มีความรู้สึกใกล้ชิดกับธรรมชาติมากขึ้น เชื่อสุดใจขาดดิ้นว่าการสร้างแนวความคิดดีๆนี้จะนำไปสู่การเกิดสิ่งดีๆอีกมากมาย และเชื่อเถอะว่า อีกไม่นานคนรุ่นใหม่กลุ่มนี้คงจะมีโปรเจคมันส์ๆมาอวดกันอีกแน่ๆ

ชักสงสัยเหมือนกันนะว่า… หรือไอ้อาการรู้สึกใจพองโตอย่างประหลาดนี่จะหมายถึงการปลูกดอกไม้ในหัวใจอย่างที่เค้าว่าจริงๆ?

ปล.1 ขอบคุณรูปสวยๆจากน้องกุ้งด้วยนะคะ ^^
ปล.2 สนใจอยากติดตามเรื่องคูลๆเพิ่มเติม ตามไปทักทายกันได้ที่นี่

โพสท์ใน Climate Cool | 3 ความเห็น